โอนเงินผิดบัญชี ต้องทำอย่างไร ? ดำเนินการได้ง่าย ๆ ปลอดภัยจากมิจฉาชีพ

โอนเงินผิดบัญชี

ก่อนโอนเงินทุกครั้งตั้งสติให้ดี ! หลีกเลี่ยงการโอนเงินผิดบัญชี 

หลาย ๆ ครั้งที่เรามักเป็นคนมือไว ไม่ทันได้ตรวจสอบข้อมูลก่อนโอนเงินจนก่อให้เกิดปัญหาโอนเงินผิดบัญชี นอกจากจะทำให้อารมณ์เสียแล้ว ยังต้องเสียเวลาไปติดต่อเดินเรื่องดึงเงินคืนอีกด้วย แต่หากโอนเงินผิดบัญชี ดึงคืนได้ไหม แล้วจะต้องทำอย่างไร มีขั้นตอนอะไรที่ควรรู้ควรระวังต้องไปอ่านกันเลย

ในการโอนเงินผิดบัญชีเราจะแบ่งออกเป็น 2 กรณีด้วยกัน คือ การที่เราโอนเงินผิดบัญชีไปยังบุคคลอื่น และอีกกรณีหนึ่งก็คือการที่ผู้อื่นโอนเงินผิดมายังบัญชีของเรา ซึ่งในกรณีที่ 2 นี้นอกจากการโอนผิดจริง ๆ แล้ว ยังมีกลอุบายที่มิจฉาชีพใช้เพื่อหลอกให้เราโอนเงินกลับด้วย เพราะฉะนั้นต้องระมัดระวังและศึกษาขั้นตอนให้ดี

โอนเงินผิดบัญชี

เมื่อรู้ตัวว่าโอนเงินผิดบัญชี ให้รีบไปแจ้งยังธนาคารต้นทาง โดยทางธนาคารจะแจ้งว่าหากจะดำเนินการดึงเงินคืนจะต้องทำอย่างไร และเตรียมเอกสารอะไรบ้าง ในทางกฎหมายธนาคารจะไม่สามารถดึงเงินจากผู้ที่เราโอนไปผิดกลับเข้ามายังบัญชีต้นทางโดยพลการ การจะนำเงินกลับมาได้นั้นจะต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของบัญชีปลายทาง ธนาคารจึงเป็นเสมือนตัวกลางที่คอยประสานงานให้หากมีการโอนเงินผิดพลาดเท่านั้น

เมื่อแจ้งธนาคารเรียบร้อยแล้ว ก็จัดเตรียมเอกสารที่จำเป็นให้ครบถ้วน บางครั้งแต่ละธนาคารก็อาจจะใช้เอกสารที่แตกต่างกันไป โดยส่วนมากจะได้แก่ หลักฐานการโอนเงินที่มีข้อมูลครบถ้วน ทั้งวันเวลา วันที่ ชื่อผู้โอน ข้อมูลบัญชีปลายทาง หรืออาจจะมีเอกสารเพิ่มเติม อย่างใบคำร้องขอตรวจสอบการโอนเงินผิดบัญชี สำเนาบัตรประชาชน ใบแจ้งความ เป็นต้น

หลังจากที่รวบรวมหลักฐานการโอนเงินผิดบัญชีและยื่นให้ธนาคารเรียบร้อยแล้ว ธนาคารจะแจ้งระยะเวลาในการดำเนินเรื่อง และเมื่อธนาคารดำเนินเรื่องกับบัญชีปลายทาง พร้อมแจ้งให้เจ้าของบัญชีรับทราบเรียบร้อยแล้ว หากเจ้าของบัญชียินยอม ธนาคารก็จะทำเรื่องโอนเงินเข้าบัญชีของเรา

หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่าแล้วถ้าหากธนาคารติดต่อไปยังบัญชีปลายทาง และเจ้าของบัญชีปลายทางรับรู้ว่ามีเงินเข้าผิดบัญชีแต่ไม่ยินยอมให้ธนาคารดำเนินการคืนเงินให้ จะทำอย่างไร

ต้องบอกเลยว่าการไม่ยินยอมนั้นถือว่ามีความผิด เจ้าของบัญชีต้นทางสามารถเข้าแจ้งความเพื่อให้มีคำสั่งอายัดบัญชี หรือดำเนินการทางกฎหมายต่อไป โดยจะถือว่าเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 32 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า ‘ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระความผิดฐานยักยอกทรัพย์…’ โดยการกระทำผิดดังกล่างจะส่งผลให้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หากอยู่ ๆ รู้ว่ามีการโอนเงินผิด โดยเงินนั้นเข้าบัญชีของเรา แม้จะมีเงินเข้าบัญชีตามจริงแต่ไม่ควรรีบร้อนโอนเงินกลับไปยังบัญชีต้นทางทันที แต่ควรปฏิบัติดังนี้

หากมีสายเข้าแจ้งว่ามีการโอนเงินผิดมายังบัญชีเรา อย่าเพ่งรีบร้อนโอนเงินกลับไป ควรถามข้อมูลการโอนเงินจากบัญชีต้นทางโดยละเอียด ทั้งวันเวลาการโอน เลขที่การทำรายการ ข้อมูลการโอนเงิน เป็นต้น

แม้จะทราบแล้วว่ามีเงินโอนเข้าบัญชีผิดจริง ก็อย่าเพิ่งโอนกลับไปอย่างเด็ดขาด เพราะอาจจะเป็นกลลวงของมิจฉาชีพที่ให้เราโอนเงินเข้าบัญชีม้าก็เป็นได้

หากมีการโอนเงินเข้ามาผิดในบัญชีของเรา ควรให้ติดต่อธนาคารให้ธนาคารดำเนินการโอนคืนเจ้าของโดยเราจะเป็นเพียงผู้ให้ความยินยอมในการดำเนินการเท่านั้น

บัญชีม้า

กรณีการโอนเงินผิดบัญชีก็มักเป็นกลลวงยอดนิยมที่มิจฉาชีพมักใช้หลอกให้เราโอนเงินกลับไปยังบัญชีม้า หรือบัญชีที่พวกมิจฉาชีพมักใช้เป็นทางผ่านในการทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย เป็นบัญชีของบุคคลอื่นซึ่งมิจฉาชีพจะใช้เพื่อไม่ให้การกระทำผิดถูกโยงมาถึงตัวได้ โดยพวกนี้มักจะแกล้งโอนเงินผิดไปยังบุคคลอื่น แล้วหลอกให้บุคคลนั้นโอนเงินกลับมายังบัญชีม้า เราจึงต้องป้องกันกรณีนี้ด้วยการดำเนินการคืนเงินผ่านธนาคารเท่านั้น

เช็กก่อนโอน
  1. ตรวจสอบเลขบัญชี
  2. ตรวจสอบชื่อเจ้าของบัญชีผู้รับโอน
  3. ตรวจสอบข้อมูลธนาคารของผู้รับโอน
  4. ตรวจสอบจำนวนเงินที่ต้องการโอนให้ละเอียด

ทางที่ดีที่สุดเพื่อป้องกันปัญหาที่จะตามมาจากการโอนเงินผิดบัญชีคือ การตรวจสอบข้อมูลการก่อนทำการโอนเงิน หรือทางทำธุรกรรมออนไลน์อื่นๆ เพื่อให้เงินสามารถไปถึงปลายทางผู้รับได้อย่างปลอดภัย แต่หากเกิดความผิดพลาดในการโอนขึ้นมาแล้วก็ควรรีบดำเนินการติดต่อธนาคารโดยด่วน ไม่รอให้เวลาผ่านไปเพราะยิ่งจะทำให้การดึงเงินคืนกลับมาเป็นไปได้ยาก


แหล่งที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย, คลังความรู้ Finnomena, SCB